Ad

3 กันยายน 2553

How to Store Foods.


วิธีเก็บถนอมอาหาร

วิธีเก็บถนอมอาหาร, Siam Thai Food, How to Store Foods


       

            วันนี้ผู้ปรุงอาหารไทยจะต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บถนอมอาหารไทยทั้งก่อนปรุงหรือหลังจากที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งไม่ว่าอาหารไทยนั้นจะยังไม่ได้ปรุงหรือปรุงเสร็จแล้ว  เราจะเรียกว่าเป็นการเก็บถนอมอาหารเพื่อสงวนคุณค่าของอาหารนั้นเอง  เพราะสารอาหารทั้งพืช,  ผักและเนื้อสัตว์  ย่อมจะต้องมีการสูญเสียในระหว่างการเก็บมากน้อยตามสภาพของการเก็บหรือสถานที่เก็บอยู่บ้าง

            วิธีการที่จะสงวนคุณค่าของอาหารได้ดีที่สุด  คือ  การเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำ  แต่อุณหภูมิที่จะใช้เก็บอาหารแต่ละชนิดก็จะไม่เท่ากัน  จึงจำเป็นที่ผู้ปรุงอาหารไทย , พ่อบ้านหรือแม่เรือน  จะต้องพึงรับรู้ไว้ไม่มากก็น้อย  คือ

  • อุณหภูมิที่ต่ำกว่า  0 องศาเซลเซียส  
            เหมาะสำหรับเก็บรักษาเนื้อสัตว์ทุกชนิด   ที่ต้องกา่รเก็บไว้ในระยะยาวหรือนาน  เช่น  เก็บไว้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน   แต่ก่อนที่จะเก็บเนื้อสัตว์เราจะต้องนำไปล้างทั้งชิ้นใหญ่ให้สะอาดเสียก่อน  แล้วตัดแบ่งออกเป็นขนาดหรือน้ำหนักเท่าที่ประมาณว่าเราจะนำมาปรุงอาหารในแต่ละครั้งต้องใช้ขนาดเท่าไร  ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการนำออกมาใช้โดยไม่ต้องนำเอาชิ้นที่ใหญ่ออกมาตัดแบ่ง  แล้วต้องนำเอาเข้าไปเก็บใหม่  ซึ่งการทำแบบนั้นจะทำให้สารอาหารละลายออกมากับน้ำ  และในขณะเดียวกันอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็ว  ก็จะทำให้แบคทีเรียบนเนื้อสัตว์เจริญเติบโตขึ้นได้อีกในระยะหนึ่ง

  • อุณหภูมิที่สูงกว่า  0  องศาเซลเซียส
            เหมาะสำหรับที่จะใช้เก็บเนื้อสัตว์ในระยะสั้นหรือต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นปัญหายุ่งยากอะไรมากนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ปรุงอาหารไทย, พ่อบ้านหรือคุณแม่บ้านที่มีตู้เย็นหรือตู้แช่เย็นเก็บอยู่แล้ว

  • อุณหภูมิเย็นปานกลาง  หรือประมาณ  40  องศาฟาเรนไฮด์
           เหมาะสำหรับการเก็บรักษาอาหารจำพวกไข่, นม, เนย, ผักและผลไม้, ฯลฯ  แต่เราควรจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ถูกวิธี  คือ
           ไข่   ให้ใส่ไว้ในภาชนะโปร่ง หรือวางตั้งให้ด้านแหลมของไข่ตั้งขึ้น  หรือวางไข่ไว้ในแผงไข่ซึ่งทำไว้โดยเฉพาะสำหรับวางไข่ทั่วๆ ไป
            ผักและผลไม้  ก่อนเก็บเราจะต้องล้างให้สะอาดเสียก่อน  และใส่ผักไว้ในช่องที่เก็บผัก  ถ้าหากจะใส่ไว้ในถุงพลาสติก  ควรจะแยกชนิดของผักและผลไม้ไว้ต่างหาก  เพราะผักบางชนิดบางอย่างมีความต้องการน้ำมาก  เช่น  ผักบุ้ง  เมื่อล้างแล้วควรจะให้มีน้ำชุ่มผักอยู่บ้าง  เพื่อรักษาความสดของผักไว้
            เนยและนม  เราควรจะใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด  ป้องกันการดูดเอากลิ่นอื่นๆ เข้ามาในอาหารประเภทเนยและนม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตู้เย็นในปัจจุบันนี้มักจะมีช่องสำหรับเก็บโดยเฉพาะ  คือช่องที่ทึบแสง เหมาะสมกับการเก็บเนย  เพราะแสงอาจจะเข้าไปทำลายวิตามิน B2  ของเนยได้หากเนยนั้นถูกเปิดใช้และโดนแสงไปนานๆ
            ผลไม้บางชนิด  เช่น  กล้วยหอม  อาจจะต้องการอุณหภูมิปกติ  คือไม่เย็นจัด  ถ้าหากเราต้องการที่จะรักษาผิสหรือสีของเปลือกกล้วยไม่ให้ดำ  เราก็ไม่ควรที่จะนำไปเก็บในตู้เย็น  หรือในที่มีความเย็นจัด
            ผลไม้ที่ยังไม่สุก  ซึ่งหากเราต้องการรอรับประทานเมื่อผลไม้สุกหรือเหลืองนั้น  ก็จำเป็นต้องใช้อุณหภูมิปกติในการรักษา  ไม่ควรนำเข้าไปเก็บไว้ในตู้เย็นก่อนที่ผลไม้จะสุก
          
            ** สำหรับแม่บ้าน, พ่อบ้านหรือผู้ปรุงอาหารไทยที่ยังไม่มีตู้เย็นเอาไว้ใช้ในการเก็บผัก  หรือผลไม้ทั่วๆ ไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน   อาจจะเก็บผักและผลไม้นั้นไว้ในอุณหภูมิปกติได้  แต่ให้เป็นไปโดยวิธีทางธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่สิ่งแวดล้อมตามสถานที่นั้นๆ  อาทิ

            * เอาโคนผักหรือรากนั้นแช่ไว้ในน้ำ
            * ใช้ใบตองห่อหุ้มให้ชุ่มน้ำไว้
            * ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำหุ้มหุ่อหรือคลุมเอาไว้
            * ใส่เอาไว้ในตุ่มดินเล็กๆ  แล้วเอากระสอบชุบน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปคลุมปากตุ่มไว้
            * นำผักหรือผลไม้นั้นใส่ไว้ในอ่างดินแล้วนำไปวางไว้ข้างตุ่มน้ำ
       
            ซึ่งก็นับว่าการเก็บถนอมอาหารไทยในปัจจุบันนี้  อาจจะไม่ค่อยจะยุ่งยากนักสำหรับบรรดาแม่บ้าน-พ่อบ้านทั้งหลาย  เพราะเกือบทุกบ้านมักจะมีตู้เย็นเป็นที่เก็บกันเสียส่วนใหญ่แล้ว  และตู้เย็นสมัยใหม่ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก  มีช่องแบ่งเก็บผักและผลไม้และอื่นๆ  ที่แยกเก็บไว้เป็นที่เป็นทางโดยเฉพาะอยู่แล้ว  ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิแต่ละช่องแต่ละส่วนของตู้เย็นก็จะไม่เท่ากัน  ซึ่งอุณหภูมิต่ำสุดในช่องเยือกแข็ง  ไปลงมาจนถึงอุณหภูมิสูงสุดคือที่เก็บผัก    ก็นับว่าเป็นความสะดวกสบายต่อคุณพ่อบ้านและแม่บ้านเป็นอย่างมาก

 

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น